20 ตุลาคม 2553

LTF กับ 5ปีปฎิทิน


ว่ากันง่ายๆอีกที LTF ก็คือกองทุนรวมรูปแบบหนึ่งที่พิเศษตรงที่ผู้ลงทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ก็มีเงื่อนไขด้วย ซึ่งเงื่อนไขที่เด่นที่สุดก็คือ

ใช้ลดหย่อนภาษีได้แค่ปีที่ซื้อ และเมื่อซื้อแล้วต้องถือไปอีก 5 ปีปฎิทินถึงจะขายหน่วยลงทุนนั้นได้
(ให้ถือไปอีก 5ปีปฎิทิน คือห้ามขาย ไม่ใช่ลงทุนเพิ่มทุกปีไป 5ปีนะ
)

5ปีปฏิทิน คืออะไร
ปกติถ้าเราพูดว่า 5 ปี เราจะหมายถึง การนับเดือนชนเดือน เช่น ถ้าเริ่มนับวันแรกเป็นวันที่ 1 ธ.ค. 2553 จะครบ 5 ปี ตอนวันที่ 30 พ.ย. 2558 แต่ถ้าเราบอกว่า 5 ปีปฏิทิน จะหมายถึงการนับจำนวนปีจากเฉพาะตัวเลขปี พ.ศ. ไม่ดูเดือน เช่น ถ้าเริ่มนับวันแรกเป็นวันใดก็ได้ในปี 2553 จะครบ 5 ปีปฏิทิน ตอนวันที่ 1 ม.ค. 2557

ดังนั้น ถ้าเราจะถือครอง LTF ให้สั้นที่สุด เราก็ซื้อ LTF วันที่ 31 ธ.ค. 2553 แล้วไปขายวันที่ 1 ม.ค. 2557 ก็จะถือเป็น 5 ปีปฏิทินแล้ว

แต่ก็ต้องระวังนิดนึง เพราะกองทุน LTF จะเปิดให้เราขายได้ แค่ 2 ครั้งต่อปี ในช่วงเวลาที่กองนั้นๆกำหนด เพราะฉะนั้น ถ้ากองที่เราซื้ออยู่ไม่ได้เปิดให้เราขาย ตอนต้นๆปี เราก็จะขายไม่ได้ ต้องรอไปจนถึงเวลาที่ทางกองทุนกำหนด

ส่วนวันที่ซื้อถ้าจะให้ครบปีปฎิทินเร็วๆ ก็ต้องดูว่าวันทำงานสุดท้ายของบลจ.ของปีนั้นเป็นวันที่เท่าไร ซึ่งก็อยากจะให้ข้อมูลเพิ่มสำหรับคนที่ชอบมาซื้อปลายปีว่า โดยมากตลาดหุ้นราคาช่วงปลายปีมักจะสูงกว่าต้นหรือกลางปี (เพราะคนส่วนมากชอบมาซื้อ LTF กันตอนปลายปี ทำให้ราคายิ่งสูงขึ้น) ไม่ต้องงงว่าทำไมไปเกี่ยวอะไรกับตลาดหุ้น อย่าลืมว่า LTF หลักๆเลยคือเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้น ราคากองทุนมันก็ต้องอ้างอิงตลาดหุ้นเป็นธรรมดา

ถ้าขายก่อนจะเกิดอะไรขึ้น
เราจะต้องคืนเงินภาษีทั้งหมดที่ได้รับการยกเว้นในปีที่เราซื้อนั้น + ดอกเบี้ย และต้องนำกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนไปรวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย

เมื่อการผิดเงื่อนไขการลงทุนแล้ว ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกต่อไป และต้องดำเนินการดังนี้
1. ต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นไป เฉพาะยอดเงินลงทุนที่ขายคืนพร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน โดยนับตั้งแต่เดือน เมษายน ของปีที่ผู้ลงทุนยื่นขอยกเว้นภาษี จนถึงเดือนที่มีการยื่นคืนเงินภาษี ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรยื่นขอคืนเงินภาษีพร้อมเงินเพิ่มทันที ที่มีการทำผิดเงื่อนไขการลงทุน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงรอบชำระภาษีตามปกติ
2. ต้องจ่ายภาษีของกำไรส่วนเกินทุน (capital gain) โดยนำกำไรที่ได้รับจากการขายคืนไปรวมเป็นเงินได้ของปีที่ขายคืนเพื่อเสียภาษีเงินได้ ซึ่งในทางปฏิบัติเมื่อผู้ลงทุนขายคืน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมจะหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ของกำไรส่วนเกินทุนไว้ก่อน
ที่มา :
http://www.sec.or.th/infocenter/report/Content_0000000743.jsp?categoryID=CAT0000292&lang=th

ยกเว้นในกรณีที่ผู้ลงทุนเสียชีวิตหรือทุพพลภาพจะถือว่าไม่ผิดเงื่อนไขการลงทุน

ส่วนถ้าใครครบ 5ปีแล้วยังไม่ขาย จะรอให้ราคาหน่วยลงทุนสวยๆก่อนแล้วค่อยขายก็ไม่ว่ากัน

อ้อ อันนี้หลายคนไม่รู้ เค้าห้ามขายก่อน 5 ปีปฎิทิน แต่ระหว่างนั้นเราสามารถสับเปลี่ยนสลับไปมาระหว่าง กอง LTF ด้วยกันได้นะ นอกจากนี้ยังสามารถ โอน LTF ของเราไปยังกอง LTF ของ บลจ. อื่นได้ด้วย ไม่ผิดเงื่อนไขแต่อย่างใด

อันนี้เป็นตัวอย่างการสับเปลี่ยน และตัวอย่างอื่นๆ ตามไปอ่านกันเองนะ

http://topicstock.pantip.com/sinthorn/topicstock/2010/03/I9047384/I9047384.html
http://www.pantip.com/cafe/sinthorn/topic/I9820477/I9820477.html
http://www.aimc.or.th/80aimc_webboard_detail.php?question=Q0612261907bzbxMTkwNy16ei0x

คำเตือน
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน!!

16 ตุลาคม 2553

LTF คืออะไร


ไหนๆก็เกริ่นเรื่อง LTF สามารถนำมาใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ถึงแค่ปี 2559 กันไปแล้ว วันนี้มาเข้าเรื่องเกี่ยวกับ LTF ให้ลงลึกกันอีกหน่อยดีกว่า ใกล้จะสิ้นปีแล้วด้วย

LTF(ย่อมาจาก Long Term Equity Fund)หรือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว เป็นกองทุนรวมแบบพิเศษที่ให้สิทธิผู้ลงทุนนำเงินลงทุนในแต่ละปีมาใช้ลดหย่อนภาษีได้

โดยสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15%ของรายได้ในแต่ละปีแต่ต้องไม่เกิน 500,000บาท ซื้อปีไหนก็ใช้ลดหย่อนภาษีของปีนั้น(ซึ่งปีนี้ก็จะหมดเขต 31ธ.ค.นี้)แต่ต้องถือต่อไปอีกให้ครบ 5ปีปฏิทินถึงจะขายคืนได้

ยิ่งฐานภาษีสูงมากก็ยิ่งประหยัดได้มาก

ซึ่ง LTF แต่ละบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนก็จะมีรายละเอียดแยกย่อยแตกต่างกันไป เช่น สัดส่วนการลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้,มีปันผล,ไม่มีปันผล,ลงทุนในตลาด SETหรือ MAI แต่หลักๆ คือต้องมีการนำไปลงทุนในหุ้นด้วย

วันนี้ขอยกตัวอย่างกองทุน LTF ของบลจ.ไทยพาณิชย์ กับ บลจ.กสิกรมาให้ดู เพื่อช่วยในการตัดสินใจ ใครรับความเสี่ยงได้น้อยก็เลือกที่ลงในหุ้นน้อยๆแล้วกันนะ

LTF ของบลจ.ไทยพาณิชย์
มีทั้งหมด 6กองทุน แบ่งเป็น 2รูปแบบตามความเสี่ยง

เสี่ยงน้อย ด้วยลักษณะกองทุนที่ออกแบบมา เพื่อลดความผันผวนจากหุ้นให้ต่ำลง
SCBLT1 - ไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวปันผล 70/30
:: มีนโยบายการจ่ายปันผล
:: จะมีสัดส่วนการลงทุนไม่เกิน 70% ที่เหลือจะเป็นตราสารหนี้

SCBLTS - ไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวสมาร์ท
:: ไม่มีนโยบายการจ่ายปันผล
:: มีการลงทุนใน SET50 Index Futures ในทิศทางที่ใช้หักล้างกับตลาดหุ้น ทำให้ลดความผันผวนจากตลาดหุ้นได้เกือบ 40%


เสี่ยงมาก ด้วยลักษณะการลงทุนในหุ้นอย่างเต็มที่ แต่ในบางช่วงเวลาก็จะมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนบ้างเล็กน้อย
SCBLT2 - ไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาว พลัส
:: ไม่มีนโยบายการจ่ายปันผล
:: ลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET50 ที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ ประมาณ 90%

SCBLT3 - ไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาว เอ็มเอไอ
:: ไม่มีนโยบายการจ่ายปันผล
:: กระจายการลงทุนในหุ้นที่หลากหลาย
: กลุ่มหุ้น SET50 ประมาณ 40%
: กลุ่มหุ้นที่อยู่ในกลุ่มล่างของ SET100 และ MAI ประมาณ 40%
: ที่เหลือประมาณ 20% จะปรับเปลี่ยนตามสภาวะการณ์ รวมถึงมีการลงทุนใน SET50 Index Futures ด้วย


SCBLT4 - ไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวอินเตอร์
:: มีนโยบายการจ่ายปันผล
:: มีการกระจายไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศประมาณ 5 - 10% (SCBPGF, SCBAEM)

SCBLTT - ไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวทาร์เก็ต
:: มีนโยบายการจ่ายปันผล
:: เป็นรูปแบบผสมที่หลากหลายการลงทุน เหมือนเป็นตัวรวมของ LTF ทั้ง 5 กองทุนข้างต้น

LTF ของบลจ.กสิกร มี 6 กองทุน
เริ่มตั้งแต่กองทุน LTF ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ไปยัง LTF ที่มีความเสี่ยงต่ำ ดังนี้

1) เค 20 ซีเล็คท์ หุ้นระยะยาวปันผล (K20SLTF) ลงทุนในหุ้นขณะใดขณะหนึ่งไม่เกิน 20 บริษัท มีนโยบายจ่ายเงินปันผล
เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในหุ้น โดยเลือกเฉพาะหุ้น ที่มีศักยภาพสูง 20 อันดับแรก

2) เค โกรท หุ้นระยะยาวปันผล (KGLTF) ลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง มีนโยบายจ่ายปันผล
เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการเจริญ เติบโตสูงในอันดับต้นๆ

3) เค หุ้นระยะยาว (KEQLTF) ลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี ไม่จ่ายปันผล
เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในหุ้น โดยกระจายการลงทุนในหลายๆ กลุ่มอุตสาหกรรม

4) เค หุ้นระยะยาวปันผล (KDLTF) ลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี มีนโยบายจ่ายเงินปันผล
เหมาะสำหรับ ผู้ที่ต้องการลงทุนในหุ้น โดยกระจายการลงทุนในหลายๆ กลุ่มอุตสาหกรรม

5)เค 70:30 หุ้นระยะยาวปันผล (K70LTF) ลงทุนในหุ้นไม่เกินร้อยละ 70 มีนโยบายจ่ายเงินปันผล
เหมาะสำหรับผู้ที่สามารถรับความผันผวนของราคาหุ้นได้บ้าง

6) เค สตราทีจิค ดีเฟ็นซีฟ หุ้นระยะยาวปันผล (KSDLTF) ลงทุนในหุ้น และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อลดความเสี่ยงจากหุ้นมีนโยบายจ่ายปันผล
เหมาะสำหรับผู้ที่สามารถรับความผันผวนของราคาหุ้นได้น้อยมาก


ส่วนรายละเอียด LTF ของบลจ.อื่นๆไปหาเพิ่มกันเอาเองนะจ๊ะ ^^

หลักการเลือกบลจ.ก็เหมือนๆกับซื้อกองทุนทั่วไปตามที่เคยเขียนไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น ดูความสะดวกในการซื้อ ดูผลประกอบการณ์ ฯลฯ อ้อ มีตารางแสดงผลการดำเนิงงานกองทุนมาเป็นตัวช่วยพิจารณาให้ด้วย คลิกตามลิงก์ไปเลยนะจ๊ะ

ตารางแสดงผลการดำเนินงานกองทุน LTF

แล้วครั้งต่อไปจะมาเจาะลึกกันลงไปอีก วันนี้ยาวไปละ เดี๊ยวจะขี้เกียจอ่านกันซะก่อน

ฝันดีจ้า

02 ตุลาคม 2553

สลากออมสินซื้อยังไง


สลากออมสินเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการออม ที่ปลอดภัย เงินต้นไม่สูญ สามารถลุ้นรางวัลได้ทุกเดือนตลอดอายุสลาก แล้วถ้าสนใจต้องไปซื้อที่ไหน ซื้อยังไง และที่สำคัญจะขายต้องไปขายที่ไหน
เรามีมาบอกค่ะ อ่านต่อ